วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บทความที่ 4

บทความที่ 4 ปัญญาฉ้อโกง 0n line
รายวิชาการจัดการสารสนเทศยุคใหม่ในชีวิตประจำวัน รหัสวิชา 0026 008
ชื่อ นางสาวนิรชา   อะโน  FM รหัส 56010919608   กลุ่มเรียนที่ 1



     การซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีมากขึ้น และหลายคนใช้บริการดังกล่าวเป็นประจำ เพราะสามารถซื้อได้ง่าย สะดวก  และรวดเร็ว  ทั้งนี้ ตัวอย่างสินค้าที่ต้องการสามารถตรวจสอบได้ตามมีรายการสินค้าอยู่ในระบบ 0n line นี้  การซื้อขายสินค้าในปัจจุบัน คือ บริษัทหรือผู้ขายได้โพสต์ข้อความขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตแล้ว และแจ้งให้ผู้ซื้อสินค้าโอนเงินผ่านบัญชีหรือใช้บัตรเครดิตชำระค่าบริการหรือราคาสินค้า แล้วจึงส่งสินค้าดังกล่าวให้แก่ลูกค้า   ซึ่งหากเป็นการขายสินค้าที่ถูกต้องก็จะไม่เกิดปัญหาในการซื้อขาย เว้นแต่จะมีความชำรุดบกพร่องในสินค้าที่จะต้องเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการชำรุดบกพร่องของสินค้าดังกล่าว
 
     ปัญหาที่เกิดการฉ้อโกงในการซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต จึงเป็นเรื่องที่มิจฉาชีพแสวงหาโอกาสในการซื้อขายทาง online นี้ แสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อขายสินค้าหรือบริการ และเมื่อมีคนเข้าไปทำธุรกรรมและซื้อสินค้าเหล่านั้น แต่ไม่รับสินค้า  กรณีดังกล่าว จึงเกิดปัญหา และสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก และความเสียหายดังกล่าวอาจเป็นเงินจำนวนสูง ถ้าสินค้านั้นเป็นที่นิยม เช่น ตุ๊กตาที่สั่งจากต่างประเทศเป็นต้น
 
     ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาที่ยากต่อการป้องกัน เพราะการโพสต์ข้อความลงในระบบอินเทอร์เน็ตนั้น ผู้ที่โพสข้อความสามารถโพสต์เข้ามาในเว็บไซต์หรือสร้างเว็บไซต์ได้เอง และเสนอขายสินค้าและบริการ โดยที่ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อไม่อาจทราบได้ว่า การเสนอขายสินค้าดังกล่าวเป็นความจริงเพียงใด  ซึ่งต่างจากการขายสินค้าหรือบริการที่มีร้านค้าหรือตัวแทนที่ถูกต้อง ผู้ซื้อสามารถติดตามตัวผู้ขายได้ หรือบริษัทที่ให้บริการได้   
 
     ส่วนข้อที่ยากไปกว่าการป้องกันคือ การตรวจสอบว่า ใครเป็นผู้ดำเนินการ เพราะการซื้อขายในระบบอินเตอร์เน็ตนั้น  การใช้ชื่อหรือข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ต มักจะไม่ได้ใช้ชื่อจริง ดังนั้น การตรวจสอบของพนักงานสอบสวนจึงต้องแกะรอยจากบัญชีของผู้ขายที่ระบุให้โอนเงินไป แล้วจึงติดตามตัวผู้ที่กระทำความผิด  แต่ในบางกรณี การติดตามเจ้าของบัญชีก็ไม่อาจได้ตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงได้ เพราะบางคนมีการรับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อให้มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงได้แต่เจ้าของบัญชีแต่ไม่ได้ผู้กระทำความผิดที่แท้จริง และในบางกรณีเงินที่ผู้เสียหายโอนไปแล้วก็นำไปใช้จนหมดไม่อาจนำมาเพื่อคืนให้แก่ผู้เสียหายได้
 
     ในทางกฎหมายนั้น ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดที่ยอมความได้ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ต้องเป็นการหลอกลวงด้วยข้อความเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ดังนั้นการซื้อขายแล้วไม่ส่งของให้ ต้องมีเจตนาทุจริตด้วย นั่นหมายความว่า หากเป็นเพียงการซื้อขาย แต่ขณะทำสัญญานั้น เป็นการทำสัญญาจริง มีของที่จะส่งมอบจริง แต่ภายหลังไม่มีของดังกล่าว จึงไม่ได้ส่งมอบกัน กรณีนี้เป็นเพียงการผิดสัญญาซื้อขาย ที่ผู้ขายจำต้องมีหน้าที่ในการส่งมอบของที่ผู้ซื้อ ได้สั่งซื้อนั้น แต่ในกรณีที่มีการหลอกหลวง ซื้อขายทาง online นั้น แสดงให้เห็นชัดเลยว่า ผู้ขายนั้น มีเจตนาที่จะไม่ส่งมอบสินค้านั้นตั้งแต่แรก แต่ประกาศใน เว็บไซต์ให้คนเข้ามาซื้อเพื่อประสงค์จะได้เงินของผู้สั่งซื้อโดยไม่ส่งของให้จึง เป็นความผิดฐานฉ้อโกง  และหากกระทำโดยทั่วไปทาง online นี้ จึงเป็นความผิดที่ถือได้ว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 343 ซึ่งมีโทษสูงขึ้น 
 
     มาตรการที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องที่ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีภาระหน้าที่ในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำการฉ้อโกง และในแม้จะสามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ก็ตาม แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้รับการเยียวยาเพราะเมื่อมีการชำระเงินไปแล้ว และผู้กระทำความผิดได้นำเงินไปใช้ ก็ไม่สามารถที่จะนำมาคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ถูกหลอกเป็นจำนวนมากได้
 
     มาตรการป้องกันการซื้อขายโดยหลอกหลวงนี้ จึงน่าจะมีมาตรการในเชิงบริหารจัดการซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ได้ร่วมมือกันในการควบคุมการซื้อขายทางระบบ online ที่มีการลงทะเบียนในการเข้ามาทำธุรกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้บริโภคว่า หากจะเข้ามาทำการซื้อขายในระบบ online นี้ จะต้องมีทะเบียนของผู้ขาย และได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ โดยเพาะกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ เพราะ ผู้ซื้อจะได้ตรวจสอบได้ว่า หากตนต้องการทราบว่า ผู้ขายเหล่านี้ มีที่อยู่หรือมีความน่าเชื่อในการให้บริการอย่างไรก็สามารถเข้ามาตรวจสอบและเข้าทำธุรกรรมได้ โดยไม่เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง
 
     ในมาตรการของการเฝ้าระวัง ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายในระบบอินเตอร์เน็ตนี้ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ควรมีการประสานข้อมูลในการร่วมกันตรวจสอบผู้ที่โพสต์ข้อมูลเพื่อขายสินค้าหรือบริการ อย่างสม่ำเสมอ และโพสต์เตือนผู้ซื้อหรือประชาชนในการที่จะเข้าทำการซื้อขายสินค้าถึง เว็บไซต์ หลอกลวงหรือการเผยแพร่พฤติกรรมการหลอกลวงต่างๆ ในระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ประชาชนได้รู้ และมีความระมัดระวังในการเข้าทำธุรกรรมในระบบอินเตอร์เน็ตนี้ 
 
     นอกจากนี้ ในความร่วมมือของผู้ใช้บริการทางอินเตอร์เน็ตซึ่งส่วนใหญ่ก็จะโพสต์ข้อความที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงที่ตนเคยถูกหลอกมาแล้ว ในกระดานข่าวของแต่ละเว็บไซต์จึงน่าจะเป็นภาระของผู้ให้บริการเว็บไซต์ที่จะคอยตรวจสอบหรือแจ้งเบาะแสแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหากพบว่ามีบุคคลหรือเอกชนใดที่อาศัยช่องทาง online ในการหลอกลวงประชาชนอีกทางหนึ่ง
      โดยสรุป ปัญหาการฉ้อโกงทาง online เป็นปัญหาที่ต้องการความดูแลและร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต และระบบควบคุมการซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตดังกล่าว และมีการติดตามและแจ้งเบาะแสการมีพฤติกรรมหลอกลวงนี้ เพราะความเสียหายที่เกิดจากการฉ้อโกงดังกล่าวมีจำนวนมากและยากต่อการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ  ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนและความน่าเชื่อถือในการที่จะเข้าทำธุรกรรมในระบบ online ต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น